“มนุษย์-สังคม มข. ม.อ. และ มช. สานความร่วมมือ MOU และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง 3 สถาบัน”
“มนุษย์-สังคม มข. ม.อ. และ มช. สานความร่วมมือ MOU และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง 3 สถาบัน”
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำทีมผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรให้การต้อนรับ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 55 คน เดินทางมาเพื่อลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ คือ การนำไปสู่การพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้ง 3 สถาบัน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่สามารถนำไปพัฒนาและปรับใช้ได้ นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความรู้แล้วยังถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง 3 สถาบันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”
ศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า “เดิมทีคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มี MOU ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบันอยู่แล้วนั้น ในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายและร่วมลงนามใน MOU ระหว่าง 3 สถาบันที่จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต”
และ ผศ.ดร.ระวี จันทร์ส่อง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “การลงนาม MOU ระว่าง 3 สถาบันในครั้งนี้ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ยินดีให้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายรวมไปถึงร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) นี้ จะมีวาระคราวละ 3 ปี นับตั้งแต่ที่ลงนามและมีสาระสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
- สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพ การบริหารความเสี่ยงระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร การจัดการองค์กรและโครงสร้างการบริหารวิชาการและงานสนับสนุนวิชาการภายในคณะ และการจัดการความรู้ในองค์กร
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์หลักสูตร การบริการวิชาการ วิเทศสัมพันธ์และการจัดประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาความเข้มแข็งด้านภาษาอังกฤษ และการพัฒนาสมรรถนะสากลของบุคลากรและนักศึกษา
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนานักศึกษา โครงการและกิจกรรมนักศึกษา งานศิษย์เก่าสัมพันธ์และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยตามสาขาเชี่ยวชาญของบุคลากรและของพื้นที่ รวมทั้งการจัดการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและงานวิชาการในวารสารวิชาการของทั้งสามหน่วยงาน
- พัฒนาและสร้างหลักสูตรร่วมกัน โดยบูรณาการความรู้ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับสาขาวิชาอื่นๆ
- การบริหารจัดการงบประมาณและรายได้ของคณะอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าว/ภาพ : ภาวดี มาพันธ์ (HUSO KKU Info)