Logo Hs@KKU

เริ่มต้นแล้ววว!!!! การก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคการศึกษาอีสาน เนื้อหาของข่าว


เริ่มต้นแล้ววว!!!! การก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคการศึกษาอีสาน เนื้อหาของข่าว

เริ่มต้นแล้ววว!!!! การก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคการศึกษาอีสาน เนื้อหาของข่าว

เมื่อวันที่15ธันวาคม2561ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น2อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดอบรมสัมมนาและพัฒนาให้ความรู้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเครือข่ายภาคประชาสังคม จำนวน140คน

 

นายพรอัมรินทร์ พรหมเกิดอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานโครงการจัดอบรมสัมมนา ได้กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันหลายองค์กร แต่การทุจริตคอร์รัปชันก็ยังคงทวีความซับซ้อนและมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีมาตรการใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อันสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยมิได้เบาบางลงเลย แม้ว่าจะอยู่ในช่วงรัฐบาลทหาร คสช.ที่มีนโยบายเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแล้วก็ตาม

 

เช่นเดียวกับการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษา ซึ่งมีการรับรู้กันน้อยมากในทางสาธารณะ แต่แท้จริงแล้วการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษา กลับส่งผลกระทบในด้านลึกต่อสังคมเป็นอย่างมาก กล่าวคือส่งผลต่อการทำลายคุณภาพของเยาวชนในชาติ อันจะนำไปสู่การถดถอยของคุณภาพสังคมไทยในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

นายพรอัมรินทร์ ได้นำเสนอรายงานวิจัยให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาโดยเฉพาะกรณีรายใหญ่ๆ ถือเป็นตัวการทำลายสังคมและประเทศชาติมากกว่าการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อเยาวชนในระยะยาว เพราะหากเยาวชนมีทัศนคติโน้มเอียงไปในทางยอมรับความสำเร็จจากการคดโกง ฉ้อโกงเสียแล้ว นั่นหมายความว่าอนาคตของสังคมนั้นกำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า คดีการทุจริตคอร์รัปชันในรายใหญ่ๆ มักมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องที่มีอำนาจหลายฝ่าย และมักมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมเรียกว่า “เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา” และข้อเท็จจริงซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลัง มักมีตัวแสดงสำคัญ อันได้แก่ กลุ่มของนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาหรือข้าราชการที่มีตำแหน่งระดับสูง ร่วมมือกับกลุ่มนักธุรกิจในเครือข่ายของตนที่มีการเอื้อเฟื้อและอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันภายในท้องถิ่น

 

นายพรอัมรินทร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษากรณีรายใหญ่ๆ อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของภาคการศึกษาได้ และความล้มเหลวของภาคการศึกษาคือการล่มสลายของประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่เป็นคำพูดที่ดูเกินเลยไป แต่ที่แน่ๆคือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา จะตัดโอกาสที่ลูกหลานคนจนจะมีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อถีบตัวเองออกจากวงจรแห่งความยากจนที่ดักดานได้ จากการศึกษาของนายพรอัมรินทร์ และคณะ ได้พบรูปแบบการทุจริตในภาคการศึกษา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น2กลุ่มใหญ่คือ

 

กลุ่มแรก รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทั่วไปในสถานศึกษาได้แก่ ก.รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างและการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ข.รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันจากระบบการบริหารงานบุคคล เช่น การทุจริตจากระบบการสรรหาและคัดเลือก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา การทุจริตเกณฑ์การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการในสังกัด การทุจริตจากการโอนย้ายตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา การทุจริตจากการโอนย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา และการทุจริตจากการขอเลื่อนวิทยาฐานะครู ค.การทุจริตจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา ง.การทุจริตจากการเบี่ยงเบนงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลาง และเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ ซึ่งรูปแบบการทุจริตประเภทต่างๆดังที่กล่าวมานี้ บางประเภทมีการร่วมมือกันของเครือข่ายอิทธิพลในภาคการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

กลุ่มที่สอง รูปแบบและความร่วมมือการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลโดยตรงซึ่งมีการทุจริตคอร์รัปชันจากการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และการทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล

 

นายธนรรชน พหลทัพ อดีตนักวิชาการตรวจสอบภายในระดับชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่24กาฬสินธุ์ ได้กล่าวถึงผู้มีอิทธิพลในวงการศึกษาว่ามีอยู่จริง ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มักเป็นผู้แสวงหาอำนาจ เช่น การเป็นผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.หรือเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือเป็นกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มีโอกาสในการทุจริตจากการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา หรือในระบบการบริหารงานบุคคลได้ง่าย

 

นายธนรรชน ได้ยกตัวอย่างให้เห็นเรื่องเครือข่ายอิทธิพล ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ดังเช่น เมื่อมีนโยบายของรัฐที่มุ่งสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการที่มีพฤติการณ์ทุจริตบางรายในขณะนั้น มุ่งหาประโยชน์จากการทำธุรกิจประเภทสื่อการเรียนการสอน และผู้บริหารระดับสูงบางรายเหล่านั้น ยังมีหุ้นส่วนในธุรกิจจำหน่ายหนังสือเรียนร่วมกับนักธุรกิจ และนักการเมืองบางราย รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันคือ การให้พรรคพวกเครือข่ายที่เป็นผู้บริหารระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม (สพม).บางราย ช่วยประสานงานกับผู้บริหารสถานศึกษาระดับโรงเรียน เพื่อการฮั้วประมูลในการจัดซื้อหนังสือ ตำรา และครุภัณฑ์ทางการศึกษา จากตัวแทนบริษัทภายในเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ หรือในจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นพรรคพวกเครือข่ายของตน จนทำให้เกิดระบบการผูกขาดของบางบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่เข้ามาหาประโยชน์จากนโยบายทางการศึกษานั้น

 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ามีเครือข่ายของกลุ่มอิทธิพลในภาคการศึกษา นับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง และกรมบางราย ที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้บริหารการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เรื่อยมาจนถึงผู้บริหารสถานศึกษาระดับโรงเรียน ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันที่เคยทำกันมา เช่น การฮั้วประมูลเต็มรูปแบบ การล็อดสเปคหนังสือ ตำรา และครุภัณฑ์ทางการศึกษา การหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจัดซื้อหนังสือ และครุภัณฑ์ทางการศึกษา การจัดซื้อจัดจ้างอำพราง และการซื้อใบเสร็จแลกกับเงินสด เป็นต้น

 

นายเพิ่ม หลวงแก้ว อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในคณะกรรมการคุรุสภา ได้กล่าวถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันจากระบบการบริหารงานบุคคลว่า การทุจริตเพื่อเรียกรับสินบนมีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่ง และการจัดสรรอัตรากำลังที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะมีการจัดสรรอัตรากำลังในหน่วยงานที่เป็นพวกพ้องของตน จากนั้นในขั้นตอนการสรรหาและสอบบรรจุแต่งตั้งครู ก็จะเปิดช่องทางให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯบางรายที่มีพฤติการณ์ทุจริต ก็จะมีการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด ซึ่งก็คือเครื่องมือหรือกลไกที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจ และเป็นกระบวนการที่แยบยลมาก

 

ส่วนเทคนิคหรือวิธีการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ถูกนำมาใช้ในการสอบบรรจุและแต่งตั้ง เช่น

 

วิธีการแรก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯบางราย จะประสานงานให้คณะกรรมการฝ่ายดำเนินการจัดสอบ ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือพรรคพวกของตน ระบุชื่อ หนังสือ ตำรา หรือเอกสารที่ใช้ประกอบการออกข้อสอบ รวมถึงประเด็นข้อสอบต่างๆ มาให้ผู้เข้าสอบบรรจุฯที่ทุจริตด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้แล้วได้รับทราบ

 

วิธีการที่สอง การนำกระดาษคำตอบที่มีข้อเฉลยคำตอบแล้วบางส่วนไปให้ผู้เข้าสอบ เพื่อให้ผู้เข้าสอบบรรจุฯสามารถตอบข้อสอบผ่านเกณฑ์ได้ แต่ถ้าทั้งสองวิธีการนี้ยังไม่มีหลักประกันว่า ผู้เข้าสอบบรรจุฯ สามารถทำข้อสอบได้100เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีการนำกลวิธีเพื่อทำให้ผู้เข้าสอบบรรจุฯ สามารถทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมคือ

 

วิธีการที่สาม ด้วยการให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบ ทำการเปลี่ยนกระดาษคำตอบในระหว่างตรวจข้อสอบ ซึ่งมีการเตรียม ชื่อ-นามสกุล ของผู้เข้าสอบไว้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้เข้าสอบบรรจุสามารถสอบผ่านเกณฑ์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งกรณีนี้เคยมีการจับทุจริตได้ในหลายพื้นที่ของภาคอีสานมาแล้ว

 

นางสาววรัญญา ศรีริน นักวิจัยโครงการ “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา” ได้กล่าวถึงผลการวิจัยที่พบ ในเรื่องการบริหารระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูว่า ในเขตพื้นที่หลายแห่งของภาคอีสาน โดยส่วนใหญ่ พบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วยกันทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ที่ใดมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่นั่นย่อมมีการทุจริตคอร์รัปชัน

 

ส่วนสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นผลเนื่องมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นสถาบันการเงินที่มีจำนวนเงินมหาศาล และมีระบบการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่ไม่โปร่งใส ผู้บริหารบางรายเข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยวิธีการมิชอบจากกระบวนการเลือกตั้ง เช่น การให้อามิสสินจ้าง กระบวนการสรรหาคัดเลือกมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกของตนได้เข้ามาบริหารงาน ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางชุด อาศัยอำนาจจากตำแหน่งในทางมิชอบ ด้วยการออกคำสั่ง หรืออนุมัติการดำเนินงานต่างๆ อันมีเจตนาทุจริต จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีลักษณะดังนี้ เช่น

 

การร่วมมือกันทุจริตด้วยการชักจูงให้สมาชิกสหกรณ์ฯ ร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สหกรณ์ฯ สูง ขณะเดียวกันสมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มีโอกาสได้ซื้อสลากกินแบ่งในราคาถูก เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ทำให้ได้กำไรสูงสุด แต่กลับไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลจริงตามที่กล่าวอ้าง อันเป็นพฤติการณ์หลอกลวง หรือฉ้อโกงสมาชิก ในบางจังหวัดการดำเนินการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของสหกรณ์ฯ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้เช่นนี้ อาจมีเบื้องหลังบางอย่างของการแลกเปลี่ยนผลประโยน์ระหว่างกัน และยังเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางราย มีพฤติการณ์ทุจริตร่วมกับผู้บริหารธนาคารบางแห่ง ด้วยการเปิดบัญชีใหม่ แล้วนำเงินสหกรณ์ส่วนกลางไปหมุนใช้ เพื่อประโยชน์ในวงการธุรกิจของตน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น การทุจริตรูปแบบนี้มีการฉ้อฉลปิดบังความจริงกับสมาชิกสหกรณ์ โดยการนำใบฝากใหม่ (ใบฝากฉบับปลอม) มารายงานเท็จในที่ประชุม เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯรับทราบว่า สหกรณ์ฯ มีสถานะทางการเงินที่มีความมั่นคง

 

การให้สมาชิกกู้เงินประเภทเงินกู้พิเศษ โดยมีเงินวงกู้ได้จำนวนหนึ่ง แต่การจะกู้ได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขของหลักทรัพย์ค้ำประกันรายบุคคล และการที่จะสามารถมีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้นั้น ผู้กู้ต้องมาทำธุรกรรมซื้อบ้านจัดสรร หรือที่ดินในโครงการธุรกิจส่วนตัวของผู้จัดการสหกรณ์คนนั้น เพื่อให้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามศักยภาพ จึงจะมีสิทธิ์ในการกู้เงินประเภทนั้นได้ พฤติการณ์เช่นนี้ จึงเป็นการทุจริตที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยอาศัยช่องว่างของระเบียบการกู้เงิน

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์หอการค้า จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างสนามฟุตซอลว่า การทุจริตประเภทนี้ประกอบด้วยผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูงส่วนกลางในกระทรวงศึกษาธิการ และข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนภูมิภาคที่มีการประสานงานการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ โดยมีกระบวนการทุจริตเริ่มต้นจากนักการเมืองบางรายในสภา มีการแปรญัตติงบประมาณ ปี พ.ศ.2555ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการก่อสร้างสนามฟุตซอล และจัดซื้อครุภัณฑ์กีฬาลงสู่โรงเรียน ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน โดยกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติการณ์ทุจริตบางรายได้เข้ามาติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้บริหาร สถานศึกษา ในโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม เพื่อให้ได้รับงบประมาณ และใช้อิทธิพลโน้มน้าวจูงใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา รับข้อเสนอโครงการประมูลงานก่อสร้าง และการจัดซื้อครุภัณฑ์กีฬา จากบริษัทเครือข่ายที่เป็นพรรคพวกของตน พฤติการณ์ทุจริต เช่น

 

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างระบบอิเล็กทรอนิกส์E- Auctionที่แต่ละโรงเรียนดำเนินการแยกจากกัน แต่มีเพียงบริษัทเดียวที่ได้เข้าทำสัญญากับทุกโรงเรียน ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายของการฮั้วประมูล อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542มาตรา4
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบข้อมูลเรื่องราคา กับบริษัทที่ทำการขายพื้นยางสังเคราะห์ (EVA) พบว่า มีราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ310,000บาท แต่โรงเรียนจัดซื้อในราคา1.9ล้านบาท คิดเป็นประมาณ5เท่า ของเงินทางราชการต้องสูญเสียไปในการจัดซื้อ พฤติการณ์ เช่นนี้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542มาตรา4อันเป็นเรื่องการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ
 

เจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญา สร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า มีความเชื่อมโยงในลักษณะเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาจ้างระบุว่า มี5บริษัท ที่เข้ารับงานโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลตามงบประมาณแปรญัตติ ปี2555โดยมีผู้ก่อตั้งเป็นอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคขนาดใหญ่รายหนึ่งในภาคอีสาน และมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เป็นเครือข่ายรายอื่น จำนวน9บริษัท โดยมีเอกสารการมอบอำนาจเป็นตัวแทนติดต่อกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และแจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียน และคณะกรรมการผู้ถือหุ้นบางบริษัท“เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน”

ในตอนท้ายของการประชุมอบรมสัมมนา ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดตั้ง “เครือข่ายเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาของภาคอีสาน” ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่นำไปสู่การลดการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษา และเพิ่มปริมาณเครือข่ายเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้ขยายครอบคลุมทุกจังหวัดของภาคอีสาน

 

ส่วนแนวทางการดำเนินงาน

 

จะใช้สื่อออนไลน์เพื่อการติดต่อประสานงานกับสมาชิกให้ทราบว่า สมาชิกแต่ละคน คือใคร อยู่ที่ไหน ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และหากมีปัญหาจะสื่อสารกับใคร

 

การนำความรู้เรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันลงสู่โรงเรียนต่างๆ เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่อง“โตไปไม่โกง”และให้มีการสนับสนุน“เครือข่ายคนดีสู้คอร์รัปชัน”และการสนับสนุน“ปกป้อง เชิดชู คนดี”

 

 

แชร์ Facebook Twitter LINE



คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
123 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 40002
email: hs.inbox@kku.ac.th, husokku.info@gmail.com โทรศัพท์ 043-009-700 ต่อ 45888, 44867  โทรสาร 043-202-318
Follow Us
. .